”ดีแทค” โอนทราฟฟิกต่างประเทศคืน “กสท” แลกสัญญา IC
ประชาขาติธุรกิจ(8-10 ตุลาคม 2550)
ประชาขาติธุรกิจ(8-10 ตุลาคม 2550)
"กทช." รับบทเข้มเงื้อดาบเตรียมฟัน "ดีแทค" เหตุลักไก่โยกทราฟฟิกทางไกลระหว่างประเทศ จาก 001 เข้าโครงข่ายตนเองหน้าตาเฉยตั้งแต่เดือน "ส.ค." ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เลขหมายเพื่อเปิดให้บริการ ฝั่ง "ดีแทค" แบะท่ายอมโอนทราฟฟิกคืนแลกเซ็นสัญญา "ไอซี" ลุ้นบอร์ด กสทฯอนุมัติ 6 ต.ค.นี้ นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บมจ. กสท โทรคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการเจรจากับทีมผู้บริหารของดีแทคเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ดีแทคได้ตกลงจะคืนทราฟฟิกจากการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศมาผ่านโครงข่ายของ กสทฯ ภายในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ พร้อมยื่นข้อเสนอในเบื้องต้นว่าหาก กสทฯแสดงเจตนาในการผลักดันการใช้ค่าอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ (ไอซี) ร่วมกันก็ยินดีที่จะไม่ทำบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (ไอดีดี) ด้วยตนเอง แต่จะเช่าใช้เครือข่ายของ กสทฯแทน ซึ่ง กสทฯต้องนำข้อเสนอดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหารของบริษัทพิจารณาอีกครั้งในการประชุมบอร์ดวันที่ 6 ตุลาคมนี้"ได้มีการพูดคุยเรื่องข้อเสนอนี้กับนายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ รวมถึงบอร์ดบางคนแล้ว แต่มีความเห็นที่หลากหลาย ดังนั้นในการประชุมบอร์ดจะรวบรวมข้อดีและข้อเสียของการลงนามค่าไอซีกับดีแทค รวมถึงผลที่จะได้รับจากการมีพันธมิตรให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง" นายมารุตกล่าวและว่าอย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะชี้ขาดได้ว่าดีแทคมีสิทธิเปลี่ยนรหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ ที่ใช้ผ่านเครื่องหมายบวก "+" จากรหัส 001 ของ กสทฯ เป็นการใช้บริการผ่านเครือข่ายบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ก จำกัด บริษัทลูกของดีแทค หรือไม่ คือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และการยื่นข้อเสนอกับการเซ็นสัญญาไอซีของดีแทคกับการยกเลิกบริการโทร.ทางไกลระหว่างประเทศ ไม่ถือเป็นการยื่นหมูยื่นแมวโดยตนขอยืนยันว่าการตัดสินใจของบอร์ดจะไม่มีเหตุผลอื่นนอกเหนือจากทำให้กสทฯอยู่ได้ต่อไปในอนาคต นายมารุตกล่าวว่า สาเหตุที่ดีแทคยินดีไม่ทำบริการไอดีดีด้วยตนเองเป็นเพราะบริการนี้ไม่ใช่รายได้ก้อนใหญ่สำหรับดีแทค และก่อนหน้านี้ดีแทคก็ได้เข้ามาเจรจาเพื่อขอทำธุรกิจร่วมกันกับ กสทฯ ใน 2-3 โครงการด้วยกัน แต่สำหรับกรณีไอซีที่ผ่านมา กสทฯเห็นประโยชน์ของการใช้ไอซีมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ปัญหาค่าแอ็กเซสชาร์จ (เอซี) กับค่าไอซีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการให้บริการไอดีดี และบริการอื่นๆ ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่กับการบริหารงานด้านการตลาด ดังนั้นบอร์ด กสทฯจึงจำเป็นต้องพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม ทั้งนี้ ที่ผ่านมานโยบายของนายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโน โลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะเน้นให้ทุกหน่วยงานภายใต้ไอซีทีต้องสมัครสมานสามัคคี และดูแลซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ทั้ง ทีโอทีและ กสทฯจะต้องช่วยเหลือกัน รวมถึงกรณีเอซีและไอซี แต่ขณะเดียวกันบอร์ด กสทฯก็คงต้องพิจารณาถึงประโยชน์โดยรวมด้วยว่าการมีหรือไม่มีไอซีจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศชะงักหรือไม่ เติบโตหรือไม่
"ขณะนี้ กสทฯมีสิทธิตัดสินใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบริษัท แต่ถ้าต่อไปผู้กำกับระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีไอซีทีหรือรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็จะมีการปรับเปลี่ยนในภายหลัง" นายมารุตกล่าวสำหรับกรณีปัญหาเกี่ยวกับบริการโทร.ทางไกลระหว่างประเทศของดีแทคและ กสทฯนั้น เกิดจากการที่ดีแทคได้โอนทราฟฟิกจากการโทรศัพท์ออกไปยังต่างประเทศ ผ่านการกดเครื่องหมายบวก "+" ของผู้ใช้มือถือดีแทคไปยังเครือข่ายของบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ก จำกัด บริษัทลูกของ ดีแทคแบบอัตโนมัติ จากเดิมใช้เครือข่าย กสทฯผ่านรหัส "001" ทั้งๆ ที่ดีแทคยังไม่ได้รับจัดสรรเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศจาก กทช.แต่อย่างใดโดยดีแทคได้เริ่มโอนทราฟฟิกไปยังเน็ตเวิร์กของตนเองตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้คิดเป็นกว่า 13% ของปริมาณทราฟฟิกโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของ กสทฯทั้ง หมด กสทฯจึงได้ทำหนังสือเชิญผู้บริหารของดีแทคให้มาชี้แจงในสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานของ กสทฯนอกจากนี้ ที่ผ่านมาดีแทคไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยว่าการกดเครื่องหมายบวก "+" ไม่ใช่การใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศผ่านรหัส 001 ของ กสทฯ ทำให้ ผู้ใช้บริการไม่ทราบว่าตนไม่ได้ใช้บริการของ กสทฯ แต่ทำเพียงการประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของดีแทคเท่านั้น ที่ระบุว่าการกดเครื่องหมายบวกไม่ใช่การกดรหัส 001 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนการแก้เกี้ยวไม่ให้ใครมาว่าได้เท่านั้น"การที่บอร์ด กสทฯจะพิจารณาข้อเสนอของ ดีแทคนั้น เป็นคนละเรื่องกับการเรียกค่าชดเชยที่เกิดจากการแอบโอนทราฟฟิกของ "แคท 001" ไปยังบริษัทลูกของดีแทค ดังนั้น กสทฯจะทำหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยัง กทช. เพื่อให้ตัดสินว่าดีแทคทำผิดหรือไม่ หาก กทช.ชี้มาว่าดีแทคผิด กสทฯก็จะเรียกค่าชดเชยในส่วนนี้คืน และ ณ ขณะนี้จึงยังไม่ถือว่าปัญหาทุกอย่างจบลง เพราะจากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดีแทคก็ยังไม่คืนทราฟฟิกในส่วนนี้ให้" แหล่งข่าวกล่าวเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บมจ.กสท โทรคมนาคม เคยร้องเรียนไปยัง กทช.ว่า บริษัท แอดวานซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอไอเอ็น) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านรหัส 005 เปลี่ยนการใช้เครื่องหมายบวก "+" ของลูกค้า เอไอเอส เป็นการใช้รหัสทางไกลระหว่างประเทศ 005 แทนรหัส 001 ของ กสทฯ โดยไม่แจ้งให้ลูกค้าทราบ ทำให้ปริมาณทราฟฟิกผ่านรหัส 001 ของ กสทฯลดลง 62% ขณะที่บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ได้รับใบอนุญาตจาก กทช.ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเลขหมายแต่อย่างใด เนื่องจากรหัสทางไกลระหว่างประเทศ 004 ที่จะให้กับ ดีแทค มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นการใช้ร่วมกันระหว่าง กสทฯ, ดีแทค, เอไอเอส และ ทรูมูฟ จึงต้องมีการปรับระบบเพื่อโอนกลับมายัง กทช.ก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ"004 มีการใช้อยู่จึงต้องรอให้ปรับระบบโอนคืนกลับมาก่อน ซึ่งก็ตกลงกันได้แล้วว่าจะโอนมาใช้ 069 เพื่อให้ 004 คืนกลับมาที่ กทช.เพื่อให้ดีแทคต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเท่าที่ทราบทั้ง ดีแทค กสทฯ และทรูมูฟ ปรับระบบเสร็จแล้ว เหลือเอไอเอสที่ยังทำไม่เรียบร้อย จึงยังไม่สามารถโอน 004 มาให้ กทช.ได้"ด้าน พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งหากมีการร้องเรียนมา ตนจะสั่งการให้สำนักงาน กทช.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร หากพบว่าดีแทค โอนทราฟฟิกเข้าโครงข่ายของตนเองโดยไม่ผ่าน กสทฯ จะมีความผิดอย่างแน่นอน เนื่องจากดีแทคยังไม่ได้รับการจัดสรรเลขหมายสำหรับให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจาก กทช.แต่อย่างใด โดยปัจจุบันมีเพียงบริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสได้รับเลขหมาย 005 ไปเพียงรายเดียวเท่านั้น และแม้ดีแทคจะได้รับอนุญาตให้ให้บริการ IDD ได้แล้ว แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าต้องนำทราฟฟิกวิ่งผ่านเกตเวย์ของ กสทฯด้วยเช่นกัน"ตอนนี้เรายังไม่เปิดให้ทำการต่อตรงในส่วนของเกตเวย์ IDD เราเปิดแค่เกตเวย์อินเทอร์เน็ตเท่านั้น และดีแทคก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจาก กทช.ด้วย กรณีนี้ต้องดูว่าบริษัทที่ดำเนินการคือบริษัทอะไร หากเป็นตัวดีแทคโดย ตรงเข้าใจว่าในฐานะคู่สัญญาของ กสทฯก็น่าจะมีข้อบังคับบางอย่างอยู่ในสัญญาสัมปทาน และ กสทฯน่าจะดำเนินการได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว แต่หากใช้บริษัทลูกดำเนินการก็จะเป็นส่วนที่ กทช.จะดำเนินการ เนื่องจากมีฐานะเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กทช." พล.อ.ชูชาติกล่าว
No comments:
Post a Comment