Monday, October 08, 2007

‘ทีโอที’เดี้ยง กำไรต่ำเป้า

ทีโอที’เดี้ยง กำไรต่ำเป้า
โพสต์ทูเดย์ (8 ตุลาคม 2550)

“ทีโอที” โวยโดนขโมยใช้วงจร และรายได้หลักโทร.พื้นฐานลด ส่งผล 8 เดือน พลาดเป้า 2 พันล้าน วืดค่าต๋งดีแทค-ทรูมูฟ 1.4 หมื่นล้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ (บอร์ด) บริษัท ทีโอที กล่าวว่า เหตุที่รายได้ทีโอทีลด เพราะบริการหลักคือ โทรศัพท์พื้นฐานมีรายได้เหลือเพียง 9.8 พันล้านบาท ค่าเช่าวงจรมีรายได้ 2.8 พันล้านบาท และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ มีรายได้ 1.4 พันล้านบาท รวมทั้งโดนคู่สัญญาร่วมการงานลักลอบใช้โครงข่ายและเสนอบริการออกมาแข่ง ทำให้ภาพรวมมีรายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ รายได้ทีโอที 8 เดือนทำได้รวม 3.12 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ของคู่สัญญาร่วมการงาน 1.37 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้ของทีโอทีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนของทีโอทีเดิมตั้ง เป้ารายได้ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท หรือ เท่ากับ 8 เดือน รายได้พลาดจากเป้า 2 พันล้านบาท เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทีโอทีรายงานว่ามีกำไรเพียง 1.2 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.2 พันล้านบาท โดยสาเหตุมาจากโทรศัพท์พื้นฐานมีรายได้ 4.9 พันล้านบาท ลดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 พันล้านบาท โทรศัพท์สาธารณะรายได้ หายไป 32% จากเดิมที่เคยมีรายได้ 1.4 พันล้านบาท และโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ รายได้ 336 ล้านบาท น้อยกว่าที่ปีที่แล้ว มีรายได้ 497 ล้านบาท
น.ส.สุภา กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า รายได้ของทีโอทีในปีนี้ จะไม่รวมค่าเชื่อมต่อเลขหมาย หรือเอซี (แอ็กเซสชาร์จ) จาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ คู่สัญญาของบริษัท กสท โทรคมนาคม มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท และรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือไอซี (อินเตอร์คอนเนกชันชาร์จ) ที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องศาลปกครอง ซึ่งทีโอทีตั้งเป้าว่าจะมีรายได้สิ้นปีที่ 4.66 หมื่นล้านบาท เท่านั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ บริการบรอดแบนด์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประมูลขยายโครงข่ายเพิ่มอีก 975 ล้านบาท รวมทั้งการต่อสัญญา นายอดิศร์ หะริณสุต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักการตลาด อีก 3 เดือน เพื่อให้ทำการตลาดเชิงรุกอย่างจริงจัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ติดขัดเรื่องงบประมาณ ทำให้แผนการตลาดในส่วนของบรอดแบนด์ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ทีโอทีได้เริ่มทำ ตลาดบรอดแบนด์อย่างหนักเมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดยเสนอความเร็วให้ กับลูกค้าใหม่ที่ 1 เมกะบิตต่อวินาที ในราคา 590 บาท รวมทั้งอัพเกรด ความเร็วให้ลูกค้าเดิมได้ใช้ ความเร็ว ที่ 1 เมกะบิตขึ้นไป เพื่อแข่งขันกับ คู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด ตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงลูกค้าได้เพิ่มอีก 4.5 หมื่นรายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3.5 แสนราย ขณะที่โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งชาติ หรือ 3 จี มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ความหวังของทีโอทีจะลงทุนเป็นผู้ให้เช่าโครงข่าย ต้องสะดุดจากปัญหาเปลี่ยน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเป็นต้นสังกัดที่จะต้องเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

No comments: