Saturday, October 06, 2007

สัญญามือถือ - AC/IC – ไลเซนต์ใหม่ – 3G – ทีโอทีและกสท ฐานะวูบ – ข้อพิพาทเก่า วิกฤติยุคสุญญากาศ รอยต่อของ”รักษาการ”


สัญญามือถือ - AC/IC – ไลเซนต์ใหม่ – 3G – ทีโอทีและกสท ฐานะวูบ – ข้อพิพาทเก่า วิกฤติยุคสุญญากาศ รอยต่อของ”รักษาการ”
Telecom Journal (6 October 2007) 13:00:00

ต้องยอมรับว่านับแต่รัฐบาลรักษาการชุดนี้เข้านั่งบริหารราชการจวนขวบปี ณ ห้วงเวลานี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนาคมมาถึง รอยต่อ ของการบริหารการตัดสินใจอย่างวิกฤติทีเดียวไล่เรียงกันมาตั้งแต่ “รัฐบาลรักษาการ” แม้ว่าจะได้แต่งตั้งรักษาการ รมว.ไอซีที มาเพิ่มอีก 2 คน แต่คงไม่มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ เกิดขึ้นมา ท่ามกลางความขัดแย้งของส่วนต่างๆในอุตสาหกรรม จากนโยบายการกำกับเดิมที่คาราคาซังอยู่ และไม่มีใครชี้ความชัดเจนลงมาได้กทช.ก็เหลือเพียง 3 คนหลังจับสลากออก แม้จะ”รักษาการ”ต่อเหมือนเดิม รอองค์กรใหม่คือกสทช.ซึ่งก็กำหนดไม่ได้เช่นกันว่าเกิดขึ้นเมื่อใดทีโอที หน่วยงานที่ถือสัมปทานกว่า 20 สัญญา ก็มีกจญ.”รักษาการ”อีกระยะหนึ่ง เพราะประธานบอร์ดอยากเห็น “สเปก”ใหม่ ที่พันเอก นที ศุกลรัตน์ สามารถร่วมลงสมัครได้ ด้านกสท ก็มีกจญ.คนนอกอย่าง พิศาล จอโภชาอุดม ที่ไม่รู้ว่าจะผ่านประเมินผลในปีหน้าหรือไม่ ท่ามกลางรอยต่อการตัดสินใจระดับสูงนี้ ปัญหาข้อขัดแย้งเชิงกฎหมายลุกลามขึ้นทุกขณะ เรื่องเดิมก็ไม่ได้รับโอกาสให้สรุป และคงไม่มีอะไรที่แย่ลงกว่านั้นอีก เมื่อรัฐบาลหน้าอาจแค่รัฐบาล”คั่นเวลา” อย่างที่ถูกคาดการณ์หลังจากที่รอคอยกันมาเกือบสัปดาห์ ก็ไม่มีอะไรเกินความคาดหวังว่าการปรับคณะรัฐมนตรีแทนคนที่ลาออกไปนั้น จะมีเรื่องให้นั่งจับตาอย่างมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ทั้งนี้การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อนหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางหกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ได้มอบหมายให้โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม และคุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีแท้จริงแล้วไม่ว่าใครจะไปหรือจะมาในช่วงนี้ ก็คงไม่ทำให้เรื่องต่างๆที่ค้างคาอยู่เดินหน้าต่อไปได้เหมือนอย่างที่ ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีทีคนก่อน ที่บอกว่าเขาไม่ค่อยมีอะไรทำมาร่วมสองเดือนแล้ว ไม่ได้ขี้เกียจ แต่มันทำอะไรไม่ได้แล้วจริงๆ ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมแบบที่เป็นอยู่ที่สำคัญกว่านั้นคือปัจจัยแวดล้อมที่มีบริษัท ทีโอที จำกัดและบริษัท กสท โทรคมนาคม ผู้ถือสัญญาสัมปทานของเอกชนอยู่หลายๆบริการ โดยเฉพาะสัมปทานบริการมือถือที่กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขรายละเอียดเพื่อทำให้ถูกต้องตามที่สำนักงานกฤษฎีกาชี้มูลมานั้นเต็มไปด้วยกระบวนการตัดสินใจบริหารตัดสินใจที่ช้า และไม่มีอิสระที่ชัดเจนพอศ. ดร.สิทธิชัย พูดทีเล่นทีจริงด้วยว่า หากมีคนจ้างเขา 3 ล้านบาทต่อเดือนเพื่อมาเป็นซีอีโอของทีโอที ก็คงไม่เอา เพราะไม่อยากลำบากขนาดนั้น และเชื่อว่าเข้ามาก็คงช่วยอะไรไม่ดีขึ้นอดีตรมว.ไอซีที กล่าวด้วยว่า ช่วงรักษาการนี้ยังไม่น่ามีเรื่องอะไรออกมาได้ ทั้งเรื่องแก้สัญญาสัมปทานที่น่าจะกินเวลากว่าปี เรื่องบริการ 3G ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานกสทช.จะเกิดขึ้นมาได้เมื่อไรและให้ได้เมื่อไร เรื่องแผนพัฒนาบริการ3G ของไทยโมบาย นั้น ก็ยังต้องกลั่นกรองแผนธุรกิจใหม่ จากที่เคยจะเชิญชวนรัฐบาลกิจการต่างชาติ มาปล่อยกู้ให้ ไทยโมบาย แบบ G2G ก็คงต้องใช้เวลามากส่วนเรื่องข้อพิพาทเรื่อง อินเตอร์คอนเนกชั่นชาร์จ(IC) และเรื่องแอ็คเซสชาร์จ (AC) ที่ยังก้ำกึ่งและหาคนกล้าตัดสินใจชี้ขาดไม่ได้นั้น เขาประเมินว่าอาจจะใช้เวลาถึง 2-3 ปีทีเดียว เพราะที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการกทช.ก็ส่งเรื่อง มาที่กระทรวงหลายรอบ เพื่อดูท่าทีว่าการประกาศใช้ IC ของกทช.ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วนั้น ได้ทำให้เรื่อง AC ตามสัญญาเดิมเป็นปัญหาเกิดขึ้นแหล่งข่าว กล่าวว่า กทช.ก็ต้องการชี้ว่าการออก IC มาทำให้ AC อยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่ที่ผ่านมากทช.ก็ไม่กล้าที่จะฟันธงลงว่าต้องเลิก AC มาเข้าสู่ IC เสีย เพราะเรื่องแบบนี้อาจมีผลในทางคดีภายหลังได้ เพราะล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ โดยเฉพาะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาทำให้รัฐเสียหาย เนื่องจากลำพังค่า AC นั้นทำรายได้ให้ ทีโอที ปีละเกือบ 20,000 ล้านบาททีเดียวกทช.สุญญากาศกว่าเดิม การจับสลากออกของคณะกรรมการกทช.เกิดขึ้นเมื่อ 28 กันยายน มี พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญทหาร เป็นประธานการจับสลากกรรมการ กทช. และกรรมการฯ อีก 4 คน ได้ดำเนินกระบวนการจับสลากกรรมการ กทช. เพื่อพ้นจากตำแหน่ง โดยมีสักขีพยาน เช่น จุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี,สุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา, พนักงาน กทช. และผู้ประกอบการ โดยผู้ที่จับสลากถูกให้ออกจากหน้าที่คือ พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช. เหรียญชัย เรียววิไลสุข กรรมการ กทช. และ ศ. เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ เหลือสามคนอยู่ต่อคือ สุชาติ สุชาติเวชภูมิ , ศ. ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ และ รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช.หลายคน กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ กับผลการจับสลากในครั้งนี้ เพราะตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา 3 ปี ถือว่า เป็นกำไรอยู่แล้ว และยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่ อีกนานมาก กฎหมายใหม่จะเป็นอย่างไรต้องดูไปก่อน ประธานคณะกรรมการกทช. ซึ่งยังคงรักษาหน้าที่ต่อไป กล่าวว่า ไม่กระทบกับการทำงานและกทช.ก็ยังคงทำหน้าที่อนุมัติใบอนุญาต การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 2-3 เรื่องอย่างการใช้เบอร์เดียวกับทุกระบบหรือ Number Portability รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาออกกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3จี ซึ่งพยายามที่จะออกกฎเกณฑ์ให้ได้ภายในต้นปีหน้า ส่วนเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่คงเป็นหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลชุดใหม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเนื่องจากต้องมีการแก้ไขพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ในกรณีที่จะยุบรวมองค์กรกำกับดูแลให้เหลือเพียง กสทช. เพียงองค์กรเดียว ตามรัฐธรรมนูญปี ...แต่อย่างน้อยในสภาวะรักษาการและความไม่แน่นอนของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯฉบับใหม่แบบนี้ กทช.ชุดรักษาการนี้คงไม่กล้าชี้ขาดในเรื่องใหญ่ๆ รวมทั้งยิ่งไม่มีใครสามารถเห็นอนาคตบริการ 3G ในไทยได้เลย..............ทีโอทีเลื่อนหา ซีอีโอ ใหม่ การประชุมบอร์ดทีโอที เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาในเรื่องการสรรหา กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เข้ามาทำงานแทน สมควร บูรมินเหนทร์ ที่พ้นหน้าที่ไปตั้งแต่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมลงความเห็นว่าจะไม่รีบดำเนินการตามตารางเวลาที่วางไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเลือกให้ได้ในตุลาคมนี้ เพราะประธานบอร์ด พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ต้องการได้ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ กรรมการบอร์ดเข้ามาเป็นกจญ.แต่พันเอก นที แม้จะเคยเป็นรักษาการ กจญ.พักหนึ่ง แต่ไม่ผ่านระเบียบคุณสมบัติ กจญของทีโอที เดิมตามระเบียบ ”ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูงสุดของTOT” และพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2543”อย่างไรก็ตามในเร็วๆนี้ทางกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กำลังแก้ระเบียบผู้บริหารระดับสูงสุดของรัฐวิสาหกิจใหม่ โดยจะให้บอร์ดแต่ละแห่งสามารถกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติ ได้เองเลย ซึ่งทีโอทีต้องการรอระเบียบใหม่นี้ออกมาก่อน แล้วจึงกำหนดคุณสมบัติเองและประกาศเชิญคนทั่วไปที่มีคุณสมบัติเข้ามาสมัคร ผู้บริหารรายหนึ่งของทีโอที กล่าวว่า คุณสมบัติใหม่จะแก้ข้อจำกัดที่ พันเอก นที ไม่ผ่าน ทั้งเรื่องอายุ ตำแหน่งเดิมและประสบการณ์บริหารเงิน 5000 ล้านบาท แม้ว่าก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารได้สั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์จองพื้นที่โฆษณารับสมัครกจญ.ไปแล้ว 2 สัปดาห์ก่อน แต่ถูกยับยั้งยังไม่ประกาศรับสมัครโดยตามธรรมเนียมต้องประกาศรับสมัครใน มีเดีย ครบ 21 วัน และทำการสรรหาภายใน 1 เดือนหลังปิดรับสมัคร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบอร์ดและโฆษกบอร์ดทีโอที ยอมรับในสื่อว่า ทีโอที ตัดสินใจเลื่อนรับสมัครกจญ. ไปจากเดิมเพราะเรื่องนี้ โดยกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์ จะทำหน้าที่รักษาการไปเรื่อยๆก่อน ทั้งนี้ระเบียบข้อบังคับเดิมกำหนดคุณสมบัติตำแหน่ง กจญ.คือต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 45 ปี ต้องเป็นข้าราชการระดับ C 9 หรือเป็นผู้ช่วยหรือรองอธิบดีระดับกรม หรือ เป็นรองกรรมการผู้จัดการกิจการเอกชน และต้องเคยบริหารเงินโครงการมูลค่าไม่น้อยกว่า 5000 ล้านบาท ทั้งนี้การดำรงตำแหน่งตามที่ระบุมานั้นต้องมีอายุงานในตำแหน่งนั้นมาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันที่เข้าสมัครคัดเลือก“ผมเองเห็นด้วยที่ตำแหน่งนี้ควรเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่คนที่มีอายุงานเหลือไม่กี่ปีก็เกษียณ โดยเฉพาะ TOT เป็นกิจการโทรคมนาคมที่มีปัญหามากๆ และต้องการความคล่องตัวสูง กล้าตัดสินใจ” ดร.ชิต ให้สัมภาษณ์ในสื่อพันเอก นที ก็มีวุฒิที่น่าสนใจหากตัดเรื่องคุณสมบัติในอายุ และประสบการณ์บริหารเงินมูลค่า 5000 ล้านบาทออกไปดร.สิทธิชัย กล่าวว่า หากทีโอที ไม่มี ส่วนแบ่งรายได้จากเอกชน จากเอกชนที่อยู่ในสัมปทานและค่า access charge ที่บริษัทมือถือบางรายจ่ายให้ทีโอที แล้ว ทีโอที ก็คงขาดทุนในงบการเงินไปหลายปีแล้ว แหล่งข่าวกล่าวว่า พันเอก นที ยังเป็นกรรมการบอร์ดซึ่งต้องการให้ใช้การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ สำหรับโครงการจ้างเหมาติดตั้งอุปกรณ์ระบบชุมสายและโครงข่ายรองรับการให้บริการบรอดแบนด์ มีมูลค่าโครงการ 976 ล้านบาท ซึ่งรองรับงานด้านความมั่นคงบางส่วน แต่ในที่สุดบอร์ดทีโอที ก็ต้องใช้วิธีการประมูลแบบe-Auction เพราะมีกระแสคัดค้านแรงค่าเอซียังอยู่ในหลุมดำ การประชุมบอร์ดในวันนั้น มีการรายงานเรื่องที่ สุภา ปิยะจิตติ กรรมการบอร์ด ได้เดินทางไปศาลปกครองกลางตามคำสั่งนัดไต่สวนของศาลในคดีที่ทีโอทีขอให้ศาลเพิกถอน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่บังคับให้ทีโอทีเชื่อมโยงโครงข่ายให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค สุภา ปิยะจิตติ กรรมการทีโอที กล่าวว่า ขณะได้รายงานให้บอร์ดทราบกรณีศาลปกครองกลางรับคำฟ้องทีโอทีเมื่อวันที่ 7 กันยายน ให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และจำเลยร่วมอย่างดีแทค ที่ศาลมีคำสั่งให้เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ศาลปกครองกลางยังมีคำสั่งให้ กทช.ไปให้การต่อสู้จากคดีที่ทีโอทีได้ฟ้องร้องภายในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ปี 2549 ทีโอทีรับรายได้จากค่าเชื่อมต่อเลขหมาย (แอคเซสชาร์จ) หรือค่าเอซี 14,700 ล้านบาท ซึ่งถ้า กทช.และดีแทค ชนะคดีค่าไอซี อาจส่งผลให้ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้ 14,700 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปีของอายุสัญญาสัมปทาน หรือประมาณ 147,000 ล้านบาท. ออกโปรโมชั่นยื้อวิกฤติ การกอบกู้สถานะของทีโอที ได้มีความพยายามทำมาต่อเนื่อง แม้จะช้าไปบ้าง แต่โปรโมชั่นแรกของปีนี้ก็ออกมาจนได้โดยการอัดโปรโมชั่นทั้งบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ตและ โทรพื้นฐาน เพื่อประคองรายได้หลักไม่ให้ตกเร็วไปกว่านี้ โดยทั้งสองบริการเป็นโปรโมชั่นแรกของปีนี้ ทั้งนี้ โปรโมชั่น TOT hi-speed internet ในชื่อ“แรงทั่วไทย” ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 1 เมกกะบิต เหมาจ่ายแค่ 590 บาท และหากต้องการความเร็วด้วยเน็ต 2 เมกกะบิตเหมาจ่าย 1,000 บาทใช้ได้ไม่จำกัดและ ไม่มีค่าแรกเข้า ส่วนโทรพื้นฐาน เสนอบริการด้วยราคาเหมารวม 399 บาทต่อเดือน โดยลุกค้าเบอร์ ทีโอที สามารถโทรไปที่เบอร์บ้านของทีโอที ทรู หรือ ทีทีแอนด์ที ได้ฟรีตลอดเวลา นอกจากนี้หากโทรจากเบอร์บ้านทีโอที ไปที่เบอร์มือถือ จะคิดราคานาทีละ 1 บาท ทั่วประเทศ โดยไม่มีอัตรานาทีแรกเหมือนอย่างบริการมือถือที่ออกมา ในส่วนของบรอดแบนด์ที่ความเร็ว 512/256 กิโลบิต ของเดิมก็ได้มีการปรับราคาลงมา เหลือเหมาจ่าย 570 บาทจากเดิมค่าบริการเหมาจ่ายอยู่ที่ 700 บาท ส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็ว 256/128 กิโลบิตอัตราค่าบริการยังอยู่ที่ 500 บาทเท่าเดิม นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการ fixed line service ซึ่งเคยเป็นธุรกิจหลักตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมาลดลงเรื่อยๆ แม้ส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานจะมากขึ้นแต่อายุสัมปทานก็เหลือน้อยลงทุกที ขณะที่รายได้จากบริการใหม่ๆ ที่ เคยวาดหวังไว้ ไม่ว่าจะเป็น Thai Mobile หรือ broadband internet ต่างเต็มไปด้วยปัญหา และอุปสรรค ทำให้ยังไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนักข้อพิพาท กสท -หัวเหว่ย เข้มข้นขึ้น พลอากาศตรี พิริยะ ศิริบุญ โฆษกบอร์ดกสท โทรคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมาบอร์ด ได้ประชุมวาระพิเศษที่หน่วยงานทหารแห่งหนึ่ง โดยมีการหารือในเรื่องที่คณะทำงาน ของกสท ได้ไปเจรจารับทราบข้อเสนอของทางผู้บริหารหัวเหว่ย เทคโนโลยี ในเรื่องค่าปรับโครงการ CDMA เฟสสอง ที่ล่าช้า ซึ่งกสท ยืนยันว่าต้องปรับตามข้อสัญญาและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทั้งนี้คณะทำงานรายงานว่า หัวเหว่ยยังมีความเข้าใจในสัญญาไม่ตรงกับกสท คือ ฝ่ายกฎหมายของกสท เข้าใจว่า TOR กำหนดให้หัวเหว่ย ต้องติดตั้งอุปกรณ์ high speed data software (release A) ในเครือข่ายทั้งหมดด้วย แต่ทางหัวเหว่ย อ้างว่าในสัญญาจ้างงานระบุเพียงการติดตั้งในเวอร์ชั่น release 0 ให้ทันเวลา 26 มกราคมที่ผ่านมา เท่านั้น ส่วน release A สามารถดำเนินการในภายหลังได้พล.อ.ต.พิริยะ กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า จะมีการเสนอให้กสท ทำหนังสือถึงสำนักงานใหญ่ของหัวเหว่ยที่จีน ที่จีนเพื่อรับทราบถึงปัญหาทั้งหมด และให้พิจารณาว่าจะยินยอมในค่าปรับวันละ 90 ล้านบาท หรือ จะยุติดำเนินการเพื่อยกสินทรัพย์ที่ทำไปแล้วให้กสท ไปจัดการต่อเอง“เขาแจ้งมาว่าอุปกรณ์ high speed data software (release A) มีการเตรียมไว้แล้ว แต่ขอเจรจาความชัดเจนในเรื่องค่าปรับ ซึ่งวันนี้ค่าปรับยังเดินอยู่ เพราะในมุมของกสท ต้องส่งมอบอุปกรณ์ครบทั้งหมดก่อน จึงเริ่มคำนวณค่าปรับย้อนหลังทั้งหมด”ทางกสท มองว่า สัญญาที่หัวเหว่ย ทำกับกสท นั้นเปิดช่องให้กสท.สามารถดำเนินการทางกฎหมายอย่างได้เปรียบ เพราะมีระบุว่า”กสท.สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีหากมีการดำเนินการผิดข้อสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง” ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก อาจเป็นเพราะโครงการนี้ประมูลในช่วงที่รัฐบาลทักษิณ และทางหัวเหว่ย ค่อนข้างมั่นใจในรัฐบาลที่แล้วว่าคงอยู่นาน จึงไม่ต้องระวังในจุดที่เสียเปรียบอะไรมากนัก เพราะกรณีที่เกิดขึ้นนี้หาก กสท อยากหาเรื่องก็ถือว่า หัวเหว่ย ผิดสัญญาแล้ว และทำการยึดอุปกรณ์ที่ติดตั้งทั้งหมดได้เลย ส่วนเรื่องฟ้องค่าปรับล่าช้าก็ยังดำเนินการได้อีก ในมูลค่าที่มากพอสร้างโครงข่ายใหม่ได้เลย“พอรัฐบาลเปลี่ยนไป เราไม่ได้มีอคติแต่เราต้องรักษาค่าเสียโอกาสของกสท ด้วยเพราะเลาที่เสียไปทำให้การแข่งขันทางธุรกิจหายไป”โฆษกบอร์ดกสท กล่าวว่า เขาอยากตั้งข้อสงสัยว่าหัวเหว่ย อยากให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว หรือรอการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพื่อรอความหวังอะไรหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน ตั้งแต่ที่ควรส่งมอบให้วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้มีการส่งมอบมาจริง แต่กสท ยังไม่อนุมัติการตรวจรับอุปกรณ์ให้จนถึงวันนี้เขากล่าวด้วยว่า ตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐนั้น เมื่อเอกชนคู่สัญญาทำงานล่าช้า และมีค่าปรับเกิดขึ้นถึง 10% ของมูลค่าโครงการแล้ว รัฐต้องแจ้งและถามเอกชนว่าจะจ่ายค่าปรับหรือหยุดโครงการเพื่อยกให้รัฐไป และเมื่อค่าปรับถึง 20% ก็จะถามเอกชนอีก โดยรัฐจะพยายามไม่ให้ค่าปรับถึง 50% เพราะเสี่ยงต่อเอกชนและโครงการรัฐกสท วิกฤติรายได้ตั้งแต่ปีหน้า ผู้บริหารระดับสูงของกสท กล่าวกับ Telelcom Journal ว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของกสท ค่อนข้างมั่นใจสูงว่า บริษัทจะเริ่มขาดทุนจากการดำเนินงานของตัวเอง (ไม่รวมรายได้ที่รับมาจากสัมปทานเอกชน) ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะบริษัท กำลังประสบปัญหาการทำรายได้ของโทรต่างประเทศ International Direct Dialing(IDD) ซึ่งเป็นรายได้หลักขององค์กรมาตลอดอย่างไรก็ตามรายได้ IDD ได้ลดลงตามลำดับ และยังกำลังถูกแย่งส่วนแย่งตลาดจากเอกชนทั้ง AIN(AIS International Network) บริษัทลูกของเอไอเอส , DTAC network(บริษัทลูกของDTAC) ซึ่งหากเอกชนทั้งหมดรวมทั้งค่าย True Corporation เดินหน้าทำตลาดIDDเต็มที่แล้ว กสท จะมีปัญหาวิกฤติรายได้ทันทีทั้งนี้รายได้รวม6เดือนแรกของกสท เท่ากับ 22,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,672 ล้านบาท ซึ่งดูลวงตา เพราะหากพิจารณาจากในส่วนของกสท เอง พบว่า มีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากสัมปทานแล้ว และมีกำไรสุทธิเพียง 514 ล้านบาทเท่านั้นนอกจากนี้หากแยกที่มาของรายได้ที่กสท ทำเอง 10,000 ล้านบาทนั้น พบว่ามาจาก IDD ถึง 5000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าหากเอกชนแย่งส่วนแบ่ง IDD ไปเพียง 10% ก็ทำให้กสท แทบไม่มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจเองแล้ว “ในความเป็นจริงมันต้องถูกกระทบมากกว่า 10% ซึ่งอาจจะเกือบ 50% นั่นหมายความว่ากสท เริ่มขาดทุนได้ทันทีที่เอกชนทำตลาดเต็มที่ ซึ่งก็จะเป็นเหมือน ทีโอที ซึ่งวันนี้อยู่ได้เพราะรายได้จากสัมปทาน”วันนี้กสท ยังมีปัญหากับเอกชนอยู่ โดยกำลังเจรจาหาข้อยุติกรณี DTAC กรณีที่DTAC เปลี่ยนทิศทางปริมาณการโทร.ออกภายในเครือข่ายของโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จากเดิมที่ลูกค้ากดรหัสเครื่องหมาย+ จะแปลงเป็นรหัส 001 ของ กสท ให้เปลี่ยนมาเป็นการการส่งผ่านเครือข่ายของบริษัท DTAC Network ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดีแทคนอกจากนี้กสท ได้เตรียมยื่นฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อกทช. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสร้างความสับสนต่อผู้ใช้บริการที่ใช้เครื่องหมาย+ ในการเรียกออกต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจากกทช.ทั้งนี้ดีแทค ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ 3 แบบมีโครงข่ายเป็นของตนเองตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งบริษัทเข้าใจว่าบริการดังกล่าวจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปีนี้ก่อนหน้านี้ กสท ก็เคยมีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้กับเอไอเอส ซึ่งเมื่อลุกค้ากดเครื่องหมาย + ก็จะโอนเข้าโครงข่ายบริษัทลูกของAIS คือ AIS International Network(AIN) ทีโอทียื้อผลอนุญาโต หมื่นล้าน ต่อไป นุกูล บวรสิรินุกูล รักษาการประธานสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที กล่าวว่าเขาได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับ ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ประธานอนุญาโตตุลาการตัดสินข้อพิพาท ทีโอที กับ ทรู คอร์ปอเรชั่น กรณีปกปิดข้อมูลไม่ชี้แจงให้หมดว่า เป็นกรรมการอยู่ในอลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต ในระหว่างที่ทำหน้าที่ประธานตัดสินข้อพิพาทให้ทีโอที แพ้คดี และต้อง จ่ายทรูกว่า 9,000 ล้านบาทไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งทีโอที ได้ยื่นศาลปกครองสั่งโฆฆะมติอนุญาโตและกำลังรอกระบวนการพิจารณาอยู่เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาประสิทธิ์ แจ้งเพียงว่าเป็นกรรมการในอลิอันซ์ ซีพี ประกันภัย เท่านั้น ซึ่งบอร็ดในยุคนั้นมี นาย สถิต ลิ้มพงศ์พันธ์ เป็นประธานบอร์ดก็ไม่ได้คัดค้าน รวมทั้ง ปริญญา วิเศษสิริ รองกรรมการผู้จัดการ ที่ดูแลด้านกฎหมาย ซึ่งต่อมา ปริญญา ถูกโยกย้ายงานและถูกสอบจนปัจจุบันไม่ต่อสัญญาจ้างงานแล้วนุกูล กล่าวว่า เขาจะเรียกร้องให้บอร์ดออกมารับผิดชอบข้อพิพาท ที่ทำให้ทีโอที เสียหายกว่า 9 พันล้านบาทด้วย เพราะเอกสารที่ระบุว่าประสิทธิ์ เป็นกรรมการในซี.พี.ประกันชีวิตด้วยนั้น ถูกตรวจพบมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีกรรมการบอร์ดบางรายสั่งด้วยวาจาต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ มิให้นำเอกสารนี้ส่งให้อัยการนช่วงที่มีการร้องเรียนกันเขากล่าวว่า ต้องแยกพิจารณา 2 ประเด็นคือ1. ประสิทธิ์แจ้งว่าเป็นกรรมการในอลิอันซ์ ซีพี ประกันภัย บอร์ดทีโอที ก็ควรคัดค้านการเป็นประธานของประสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้ทำ ถือว่าบอร์ดฝ่ายกฎหมายมีความบกพร่อง2. ประสิทธิ์ ปกปิดไม่ชี้แจงให้หมดว่า เป็นกรรมการอยู่ในอลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต ด้วยถือเป็นความผิดทางอาญาทั้งนี้ตามเอกสารระบุว่า ประสิทธิ์ เป็นกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ ประกันชีวิต เลขที่จดทะเบียน 753/2540 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต เป็นคนละบริษัทกับบริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย เลขที่จดทะเบียน 754/2540 ที่ ประสิทธิ์ เคยแจ้งไว้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการกรณี ผลประโยชน์ขัดแย้ง เท่ากับเป็นการปกปิดผลประโยชน์ที่ได้รับ ต่อมาปี 2547 บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โดมิดี้ จำกัด และจดทะเบียนปิดกิจการวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ชำระบัญชีเสร็จสิ้นวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ประสิทธิ์ ยังทำหน้าที่ประธานอนุญาโตตุลาการ ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 19 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ที่กำหนดให้อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ผู้บริหารกลุ่มทรู กล่าวว่า กล่าวว่า เรื่องนี้หากทีโอที ต้องการจะพิสูจน์ก็เข้าสู่กระบวนการกฎหมาย อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่ากรณีของประสิทธิ์ คงไม่มีผลต่อการตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมา เพราะบริษัท ซีพี ผู้ถือหุ้นในทรู เสนอรายชื่อกรรมการอนุญาโตคนอื่นเป็น แต่ประสิทธิ์ ถุกเสนอโดย "อลิอัลซ์"ให้เป็นคนดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเยอรมันเท่านั้น ดังนั้นประสิทธิ์ ไม่ใช่นอร์มินีกลุ่มซีพี“ซีพีไม่ได้เสนอชื่อเขาในความเป็นจริง เขาถุกส่งมาเพื่อจับผิด ซีพี ด้วยซ้ำ”ส่วน ความคืบหน้าของคดียังอยู่ระหว่างศาลปกครองพิจารณาคำร้องของTOT ที่ต้องการให้สั่งโมฆะผลอนุญาโตตุลาการ“เราก็ต้องการเงินส่วนแบ่งนี้ แต่อนาคตอยู่ที่ว่าหากคดีเป็นที่สิ้นสุดทั้งหมด มีข้อเสนอที่ดูมีเหตุผลหรือสามารถ เปลี่ยน เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่”ผู้บริหารทรู กล่าว เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว คณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติตัดสินด้วยเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ให้TOT ชำระค่าเสียหายแก่ True จำนวนกว่า 9,175 ล้านบาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 โดยให้นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ทาง ทีโอที จะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาด และทีโอทีจะต้องแบ่งผลประโยชน์จากการเก็บค่าบริการดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ที่รับจริงนับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2545 ค่าเสียหายที่ทีโอทีจะต้องชำระให้ทรูในครั้งนี้ อยู่ภายใต้การคำนวณจากเลขหมาย ทรูคูณด้วยผลตอบแทน ทีโอทีที่ได้รับ แล้วนำไปหารจากจำนวนเลขหมายทั้งหมดของTOT,True,TT&T เมื่อได้ตัวเลขแล้วดังกล่าวก็จะหารด้วย 2 ซึ่งTOT จะต้องจ่ายไปจนกว่าจะหมดอายุสัมปทานอีกด้วย ต่อมาทีโอทีเสนอให้ศาลปกครองพิจารณาว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีความชอบธรรม ไร้ความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดีความ เนื่องจากพบว่า ประสิทธิ์ประธานคณะอนุญาโตตุลาการมีส่วนได้เสียและมีความเกี่ยวพันกับทาง True ซึ่งเป็นคู่พิพาทของTOT โดย เขาดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัดซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทในเครือซีพี และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือซีพีเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีความย่อมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ส่วนตนด้วย นอกจากนี้ ทีโอที ยังระบุว่า การเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญาของ กสท เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนนั้นมีมาก่อนที่ ทีโอที จะทำสัญญาร่วมการงานกับTrue และTrue ก็รู้อยู่ก่อนแล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่ทีโอทีต้องจ่ายส่วนแบ่งดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญา ...........ทั้งหมดนี้เพียงส่วนหนึ่งของเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่ถึงจุดจบของมัน ไม่นับรวมเรื่องปัญหาที่กำลังจะทยอยเกิดขึ้น รวมถึงค่าเสียโอกาสของบริการใหม่ๆ ที่เอกชนสามารถทำได้ และประชาชนสามรถใช้บริการ รวมไปถึงประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่กำลังหดหายไป และมีโอกาสหดหายไปกว่าที่ควร หากการวางระบบและกรอบการกำกับดูแล ไม่ดีพอ............ยิ่งหากรัฐบาลหน้า จะเป็นแค่รัฐบาลคั่นเวลา สั้นๆด้วยแล้ว ยิ่งน่าห่วงเป็นทบทวี..!!

No comments: