Friday, October 05, 2007

ไทยโมบาย "ป่วน" ผลัดผู้นำ-เทคโนฯ


ไทยโมบาย "ป่วน" ผลัดผู้นำ-เทคโนฯ
กรุงเทพธุรกิจ (5 Oct 2007) 10:28:00

"ไทยโมบาย" ประสบปัญหาระบบการจัดการ ระหว่างไร้ผู้นำ "ตัวจริง" ทั้งทีโอที และกิจการร่วมค้า ล่าสุดลูกค้า "ร้องสื่อ" แจงตัวแทนขายบัตรและซิม ปฏิเสธความรับผิดชอบ ระบุทีโอที เตรียมสู่ 3 จียกเลิกพรีเพด ขณะที่บอร์ดย้ำไม่ยกเลิกทุกบริการ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : น.ส.สาลินี ศรีเพียงแก้ว ลูกค้าไทยโมบายรายหนึ่ง กล่าวว่า ได้ซื้อซิมการ์ด และบัตรเติมเงินของไทยโมบาย พร้อมเปิดใช้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2550 ถึงปัจจุบัน โดยได้ซื้อซิมที่ระบุวันหมดอายุปี 2549 เป็นจำนวน 10 ใบ มูลค่ารวม 6,800 บาท โดยสาเหตุที่ซื้อบัตรหมดอายุแล้ว เพราะได้ซื้อก่อนหน้า 1 ใบและใช้ได้ แม้ระบุวันหมดอายุตามที่เจ้าหน้าที่บริษัท สยามแอดวานซ์ เน็ตเวิร์คส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนขายซิมการ์ด และบัตรเติมเงินของไทยโมบาย แจ้งไว้ว่าโทรฟรี 24 ชั่วโมงไปได้เรื่อยๆ เมื่อซื้อซิมมูลค่า 680 บาท และเติมเงินประจำ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับแจ้งจากบริษัทดังกล่าว ว่าบัตรเติมเงินที่ซื้อไว้จะใช้ไม่ได้ตั้งแต่วันนี้ (5 ต.ค.) เพราะไทยโมบาย จะเปลี่ยนระบบเป็นเทคโนโลยี 3 จี อีกทั้งจะไม่รับผิดชอบค่าเสียหายของบัตรที่ซื้อไปแล้ว และให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ไทยโมบายเอง ซึ่งไทยโมบายจะไม่รับผิดชอบค่าเสียหาย เพราะได้ขายบัตรให้ตัวแทนฯ ลักษณะขายขาด ด้านนายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า บริษัทได้แจ้งลูกค้าที่ใช้ระบบพรีเพดที่มีอยู่ไม่มาก คือประมาณ 1 พันราย ให้รับทราบมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนแล้ว เพื่อให้เปลี่ยนมาสู่ระบบโพสต์เพด เนื่องจากไทยโมบายจะปรับเทคโนโลยีจาก 2 จี สู่ 3 จี และบัตรพรีเพดที่มีอยู่จะหมดอายุการใช้งานสิ้นเดือนต.ค.นี้
ทั้งนี้ สยามแอดวานซ์ฯ ได้ถูกทีโอทีแจ้งดำเนินคดี เพราะค้างชำระค่าบัตรและซิมการ์ดไปจำนวนหนึ่ง และไม่เคยแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายของไทยโมบายแต่อย่างใด ซึ่งบัตรเติมเงินของทีโอทีได้ระบุวันหมดอายุการใช้งานไว้ชัดเจน ดังนั้นลูกค้าจึงต้องตรวจสอบก่อนซื้อบัตร ขณะที่ พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการ บมจ.ทีโอที และประธานกรรมการนโยบายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี กล่าวว่า ทีโอที ไม่มีนโยบายยกเลิกระบบพรีเพด เพราะเป็นระบบที่ให้ความสะดวกทั้งแก่ลูกค้า และทีโอที ที่ไม่ต้องทำระบบบิลลิ่ง พร้อมกันนี้ ได้หารือกับสำนักงานการลงทุนภาครัฐ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เตรียมข้อมูลให้พร้อมพิจารณาโครงการลงทุนโครงข่าย 3 จี มูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยขั้นตอนจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด 3 จี และเสนอที่ประชุมบอร์ดทีโอที ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เขาย้ำว่า ขณะนี้ไทยโมบายยังคงให้บริการกับลูกค้า 7 หมื่นรายเช่นเดิม อีกทั้งยังไม่ได้เปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยี 3 จี เพราะโครงการลงทุนยังอยู่ระหว่างการขอเสนออนุมัติ ครม. ส่วนร่างทีโออาร์ 3 จี คาดว่าฉบับภาษาไทยจะเสร็จในกลางเดือน ต.ค. นี้ และจะต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายจากอัยการ 2 คน ก่อนเสนอให้รมว.ไอซีที เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งหากไม่ทันก็ต้องเสนอในรัฐบาลชุดใหม่ ด้านความคืบหน้าการโรมมิ่งสัญญาณ 2 จี กับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เพื่อขยายบริการไทยโมบายนั้น จะเริ่มกับเอไอเอสในวันที่ 1 พ.ย. นี้ แต่ได้เปลี่ยนข้อตกลงจากเดิมจะโรมมิ่งฟรีเพื่อแลกกับเลขหมาย เป็นคิดค่าโรมมิ่ง 0.50 บาทต่อนาทีทั้งเอไอเอสและดีแทค

No comments: